โอลิมปิกรับรองมวยไทย แต่ยังอีกไกลกว่าจะบรรจุ ?
เป็นข่าวใหญ่มากพอสมควร ต้อนรับมหกรรมโอลิมปิก 2020 เนื่องจาก สหพันธ์กีฬานานาชาติ (ไอโอซี) ลงมติโหวตรับรอง "มวยไทย" และ สหพันธ์กีฬามวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ หรือ "อิฟม่า" อย่างเต็มรูปแบบ ในการประชุมไอโอซี ครั้งที่ 138
หลังคณะกรรมการพิจารณาผ่านทุกเกณฑ์ที่กำหนด โดยนอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มชาติสมาชิกทั่วโลกได้เล่นกีฬาประจำชาติไทย กันอย่างแพร่หลายแล้ว ยังจะเป็นการปูทางลุ้นบรรจุเข้าชิงชัยในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง โอลิมปิกเกมส์ ในอนาคตอีกด้วย
เช่นเดียวกับกีฬาอื่น ๆ อาทิ คิกบอกซิ่ง, ลาครอส, แซมโบ้, ไอซ์สต็อค ฯ ที่ผ่านการรับรองในครั้งนี้ด้วย โดยข่าวนี้หลายคนตื่นเต้น เพราะหากมวยไทยได้รับการบรรจุเข้าร่วมมหกรรมโอลิมปิก นั่นหมายความว่า ประเทศไทย ในฐานะต้นกำเนิดกีฬาชนิดนี้ ก็มีสิทธิ์ลุ้นเหรียญทองเพิ่มมากขึ้น
แต่ช้าก่อน! ถึงแม้ว่าทางโอลิมปิก จะรับรอง สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ เป็นองค์กรกลางดูแลการจัดมวยไทยในระดับนานาชาติ และรับรองมวยไทย แต่กว่าที่มวยไทยจะได้บรรจุในโอลิมปิกนั้น คงอีกนาน
เพราะกีฬาที่ถูกบรรจุในโอลิมปิก ล้วนต้องผ่านกระบวนทำให้กีฬาชนิดนั้นมีความเป็นสากลมากขึ้น ต้องวางแผนระยะยาว รวมถึงการกระจายโอกาสให้ชาติอื่น ๆ พัฒนาศักยภาพเพื่อแข่งขันได้ ไม่ผูกขาดความสำเร็จกับชาติใดชาติหนึ่ง
ยกตัวอย่าง เทควันโด ซึ่งเป็นกีฬาการต่อสู้ของเกาหลีใต้ แต่เหตุผลที่ เทควันโด ได้บรรจุในโอลิมปิก เพราะเกาหลีใต้ รวมถึงองค์กรที่กำกับดูแล พยายามส่งเสริมผลักดันให้ชาติอื่น ๆ ได้พัฒนาฝีมือขึ้นมา เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน
อย่างประเทศไทย ก็ได้ โค้ชเช ชเว ย็อง ซ็อก มาคุมทีมตั้งแต่ปี 2000 เพราะสมาคมเทควันโดเกาหลีใต้ ส่งโค้ชเช มาประจำการที่ประเทศไทย และท้ายที่สุด ไทยก็พัฒนาตัวเองขึ้นมา จนสามารถต่อกรกับชาติต้นตำรับอย่าง เกาหลีใต้ได้ รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่ยกระดับขึ้นมาสู้กับเกาหลีใต้ได้ กลายเป็นกีฬาสากลที่ไม่ได้ผูกขาดเหรียญทองแค่กับ เกาหลีใต้ เพียงชาติเดียว
ขณะที่มวยไทย หน่วยงานที่ได้รับรองอย่าง อิฟม่า ต้องยอมรับเลยว่า ยังไม่มีบทบาทในบ้านเรามากนัก ส่วนในระดับสากล แม้จะมีนักมวยต่างชาติหันมาสนใจมวยไทยมากขึ้น แต่ก็ยังน้อยเกินไปที่นำมาจัดเป็นสากล ขืนจัดแข่งจริง ไทยก็คงผูกขาดเหรียญทอง
ไหนจะเรื่องกติกาที่คงต้องปรับให้มีความเป็นสากลมากขึ้น อาจจะคล้ายกับ มวยไทยใน ONE Championship ที่แนวทางการตัดสินและให้คะแนน แตกต่างจากมวยไทย 5 ยกในบ้านเรา ประเภทออกมายืนเต้นยก 5 ไม่ยอมออกอาวุธ แบบนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นแน่ ถ้าคิดจะทำให้มวยไทยเป็นสากลจริง
โอลิมปิกรับรองมวยไทย เรียกว่ายังมีขั้นตอนและกระบวนการที่ต้องใช้เวลาอีกเยอะกว่า มวยไทยจะไปถึงจุดนั้น ไหนจะเรื่องการส่งออกบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ไปทั่วโลกในหลาย ๆ ประเทศ เพื่อพัฒนาให้ต่างชาติยกระดับฝีมือมวย มากขึ้นกว่าเดิม
ที่สำคัญสุดคือ การที่มวยไทยจะไปโอลิมปิกได้ วงการมวยไทยอาชีพในประเทศไทย ต้องแข็งแรงก่อน ไม่ใช่โดนสั่งห้ามจัดลูกเดียว ตอนนี้นักมวยไทยแท้ ยังจะอดตายกันหมด แล้วแบบนี้ฝรั่งหน้าไหนจะอยากฝึกมวย ประเทศไหนจะเอาจริงเอาจังด้วย ในการพัฒนานักมวย
แล้วถ้าไม่มีชาติอื่นสนใจจะพัฒนามวยไทย กีฬาประจำชาติเราก็คงยากที่จะถูกบรรจุเข้าโอลิมปิก เพราะท้ายที่สุด โอลิมปิก ไม่ได้ต้องการกีฬาที่ผูกขาดเหรียญชาติใดชาติหนึ่ง แต่ต้องการให้การแข่งขัน สามารถมีหลายชาติได้ลุ้นเหรียญรางวัล
ดังนั้นถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเรา อยากให้มวยไทยไปโอลิมปิก ประการแรก ไม่ใช่การมองเรื่องไกลตัว แต่ควรมองเรื่องใกล้ตัว นั่นคือการมองเห็นความสำคัญ สนับสนุน และส่งเสริมให้มวยไทยอาชีพภายในประเทศแข็งแรงก่อน
ถ้าวงการมวยไทยบ้านเราดี ฝรั่งก็มีแรงจูงใจอยากฝึกฝน อยากมาต่อยเมืองไทย หรือมีเป้าหมายแน่ชัดว่าจะชกอาชีพที่เมืองไทย และต่อยล่าเหรียญรางวัลให้ประเทศชาติ เหมือนกับที่อังกฤษ พัฒนาฟุตบอล มีลีกอาชีพแข็งแรง และนักบอลทั่วโลกมาค้าแข้ง จนฟุตบอลกลายเป็นกีฬาสากลอย่างแท้จริงของโลก
ติดตามทุกข่าวสารวงการมวยได้ที่นี่ www.muayded789.com