กิ่งซาง ก.ศักดิ์ลำพูน : ต้นตำรับนักสู้สไตล์กะเหรี่ยงมหาโหด

"กิ่งซาง ก.ศักดิ์ลำพูน" นักสู้สไตล์กะเหรี่ยงมหาโหด 


    เวลานึกถึงนักชกชาติพันธุ์, กำปั้นกะเหรี่ยง เรามักจะจดจำพวกเขาได้ดีในฐานะ นักสู้ประเภทหัวใจใหญ่กว่าตับ, ปอดเหล็ก อึดถึกทน และบ้า ดี เดือด 

    อดีตนักมวยคนหนึ่งที่ ถือว่าเป็นต้นแบบสไตล์กะเหรี่ยงพันธุ์ดุ คงต้องยกให้ “กิ่งซาง ก.ศักดิ์ลำพูน” อดีตดาวบู๊ตู้ 7 สี 

    แม้จะไม่ใช่กำปั้นค่าตัวเรือนแสน หรือมีเข็ดขัดติดเอวสักเส้น แถมเกรดมวยก็ไม่ได้ขึ้นชั้นไปเจอกับ นักชกระดับพวกตัวท็อปในเวทีมวยราชดำเนิน-ลุมพินี แต่ยุคสมัยที่เขายังอยู่โลดแล่นบนสังเวียนเลือด เมื่อสักสิบปีก่อน กิ่งซาง ก็เป็นนักมวยคนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากแฟนๆ ทั่วประเทศ 

    กิ่งซาง เกิดที่หมู่บ้านปันเด็ง ตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน พื้นเพเป็นนักมวยที่ไม่ได้เก่ง ไม่ได้มีพรสวรรค์ติดตัว ช่วงเริ่มชกก็แพ้บ้าง ชนะบ้าง แต่ไม่ย่อท้อ อาศัยว่าตัวเองเป็นคนที่มีความอดทน มานะ บากบั่น ฝึกซ้อมหนักหน่วง จนร่างกายเริ่มกล้าแกร่ง ทนทาน พร้อมเปิดหน้าแลก ไม่เกรงกลัวอาวุธ เพื่อแลกกับชัยชนะ 

    จนกระทั่งมาเริ่มโด่งดังเป็นที่รู้จัก จากมวยรอบปูนเสือ ครั้งที่ 4 ที่เปิดโอกาสให้ นักมวยภูธร ที่เข้ามาล่าฝัน ซึ่งกิ่งซาง ใช้ความเป็นนักสู้จอมบู๊ เดินหน้าชนอย่างเดียว แม้ว่าจะโดนอาวุธไปหลายขนาน แต่กลับสามารถทนได้ และพลิกสถานการณ์กลับมาชนะอยู่เสมอ 

    จนฝ่าด่านเจอกับ ปวริศ เสถียรยืนยง ที่เป็นนักมวยฝีมือจัดจ้าน และถูกคาดหมายว่า อนาคตจะเป็น นักชกแถวหน้าของวงการ ผลการชก ปวริศ เอาชนะ กิ่งซางมาได้ตามคาด และต่อมาได้กลายเป็นแชมป์ปูนเสือตัวที่ 4 ในที่สุด แต่เส้นทางหลังจากนั้นกลับเป็นทาง กิ่งซาง ที่โด่งดังมากกว่า 

    กิ่งซาง เป็นนักชกที่ลงทุนด้วยรูปร่าง ช่วงยก 1-3 เขามักจะเป็นฝ่ายเดินหน้าเข้าไปรับอาวุธ ทั้งหมัดเท้าเข่าศอก ถ้าไม่โดนจุดสลบจริงๆ กิ่งซาง ไม่มีแสดงอาการเจ็บปวดให้เห็น 

    ก่อนจะมาเร่งฝีเท้าเดินทำเร็ว แบบคนที่ถอยหลังไม่เป็น ในช่วงยก 4-5 โดยเฉพาะลูกเก่งของเขา อย่างจังหวะ รวบตี กระทุ้งเข่า เรียกเสียงเฮจากแฟนมวยในเวที 7 สี และคนดูมวยทางบ้าน ที่ต่างให้ชื่นชอบ และอยากชม กิ่งซาง ต่อยบ่อยๆ เพราะชกสนุก ถึงอกถึงใจ

    แม้เขาจะมีจุดอ่อนเรื่องจังหวะตั้งรับที่ไม่ค่อยดีนัก จนลงไปล้มกลิ้งล้มหงาย ไฟต์ละหลายครั้งบนเวที แต่ทุกครั้งที่ล้ม กิ่งซาง จะรีบลุกมาให้ไว และไม่ถอดใจที่จะเดินหน้าบุก บุก บุก ถูกคนพากย์แซวว่า เขาคือยอดมนุษย์ผู้พิชิตความเจ็บปวด อย่างแท้จริง

    จากค่าตัว 2,000 บาท เขาสามารถขยับขึ้นไปถึงค่าตัว 7.5 หมื่นบาทได้ จุดเดียวที่น่าเสียดายในอาชีพของ กิ่งซาง คือเขามีโอกาสชิงแชมป์ถึง 3 ครั้งของเวทีมวย 7 สี แต่พลาดท่าปราชัยทุกหน มีเพียงรางวัลคู่ดุเดือดแห่งปี 2550 ในไฟต์ที่เจอกับ อาวุธเล็ก ว.สุนทรานนท์ เป็นเกียรติยศอย่างหนึ่งที่การันตีว่า เขาดุดันแค่ไหน 

    ด้วยสไตล์ที่บู๊ไม่มีถอย ทำให้ กิ่งซาง ได้รับฉายาว่าเป็น กะเหรี่ยงทมิฬ โดยในช่วงบั้นปลายของอาชีพนักมวยไทย กิ่งซาง เริ่มมีปัญหาด้านสภาพร่างกาย ซึ่งเป็นผลจากการกรำศึกหนักตลอดการชก ส่งผลให้เขาชกๆ หยุดๆ หายหน้าหายตาจากมวยตู้ไปบ้าง 

    จนในที่สุดก็ตัดสินใจเลิกชก ในวัย 28 ปี เนื่องจากในช่วงเวลานั้น เป็นเวลาเดียวกับที่ กิ่งซาง สอบบรรจุครูได้ครั้งแรกที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

    กิ่งซาง จึงผันตัวเองจากนักมวยจอมบู๊ มาเป็น คุณครู แต่ถึงกระนั้น กิ่งซาง ก็ยังไม่มีทิ้งวงการมวยไทย นอกจากมีอาชีพครูแล้ว กิ่งซาง ยังรับงานเป็น กรรมการตัดสินมวยไทยสมัครเล่น ควบคู่กับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข กับครอบครัว หลังจากเลิกมวย 

    ขณะเดียวกัน กิ่งซาง ก็ยังเป็นต้นแบบให้นักชกชาติพันธุ์ ที่ต้องมีความใจสู้ มีความอดทน และมุ่งมั่น จึงจะประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพและชีวิต 

    และสิ่งหนึ่งที่เขาย้ำเตือนเด็กนักมวยรุ่นน้องเสมอก็คือ อย่าละทิ้งเรื่องการศึกษา ขอให้ขยันตั้งใจเรียน เพราะมันจะมีประโยชน์กับพวกเขา ในวันที่แขวนนวมไปแล้ว

 


ติดตามทุกข่าวสารวงการมวยได้ที่นี่ www.muayded789.com