ทิศทางต่อไปของ “เวทีมวยลุมพินี” ในวันที่เอกชนเข้ามาบริหาร ?
หลังจากที่เมื่อวาน เราได้เขียนบทวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ สนามมวยเวทีลุมพินี กำลังจะทำการปฏิรูปโครงสร้างครั้งใหญ่ และมีแนวโน้มอย่างมากที่ ภาคเอกชน จะเข้ามาบริหารจัดการธุรกิจสนามมวยของ กองทัพบก
ในวันนี้เราจะมาเขียนกันต่อถึงความเปลี่ยนแปลงในอนาคต และ ทิศทางของ"เวทีลุมพินี" ที่กำลังจะเกิดขึ้น กับสังเวียนระดับตำนานของวงการมวยไทย ?
ก่อนอื่นต้องทำความเข้า่ใจก่อนว่า ในยุคสมัยปัจจุบัน มวยไทยอาชีพ คือ ธุรกิจกีฬาการต่อสู้ ที่ต้องใช้เงิน ในการหล่อเลี้ยงระบบ เพราะทุกอย่างล้วนมีค่าใช้จ่าย และต้นทุนที่ต้องเสียไป
ไหนจะ ค่าตัวนักมวย, ค่าบำรุงนักมวยของค่าย, ค่าเช่าสนาม, ค่าใช้จ่ายจ้างบุคลากรต่างๆ แต่ช่องทางที่จะได้เม็ดเงินเหล่านี้คืนมา มีเพียงแค่ เงินจากสปอนเซอร์, เงินค่าตั๋วเข้าชม และยอดจำหน่ายสินค้าที่ระลึก (ที่ไม่ได้มากมาย) เท่านั้น
เมื่อรายจ่ายมีมากกว่ารายรับ ผู้คนในวงการมวยไทย จึงประสบปัญหาอย่างหนึ่ง คือ ขาดทุน ลงทุนแล้วจม ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า ทำมวยไทยได้กำไรยาก ต้องเตรียมใจไว้เลยว่าจะขาดทุนแน่ๆ อยู่ที่ว่า เจ็บมาก หลักล้าน หลักแสน หรือเจ็บน้อย หลักหมื่น
วิกฤติแบบนี้เกิดขึ้นกับ มวยไทยอาชีพ มาสักระยะใหญ่ๆแล้ว เห็นได้จากที่โปรโมเตอร์หลายคน ถอดใจ แบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ถอยฉากลาออกไปทีละคนละสองคน
นีคือจุดที่น่าเห็นใจ สำหรับคนที่ประกอบอาชีพโปรโมเตอร์ และถ้าสมมติโปรโมเตอร์ทั้งวงการ ไม่ไหวต่อแบกต้นทุนต่อไป อะไรจะเกิดขึ้นกับ วงการกำปั้นบ้านเรา
ต้องยอมรับว่า เวทีลุมพินี ตั้งแต่ย้ายทำเลใหม่ ค่อนข้างเดินไปลำบากพอสมควร ถ้าเทียบกับตอนเป็น วิกสังกะสี เพราะไม่ได้อยู่ใกล้กับบริการขนส่งสาธารณะอย่าง รถไฟใต้ดิน, รถไฟฟ้า ส่งผลต่อยอดคนดูในสนามที่ลดลง เมื่อเทียบกับ เวทีราชดำเนิน ที่คนไทยและชาวต่างชาติ เดินทางเข้าไปดูได้ง่ายกว่า
ขณะเดียวกัน ผู้บริหารสนามมวยลุมพินี ที่ผ่านมา ล้วนเป็นการแต่งตั้งตามวาระ ใช้คนตามตำแหน่งราชการมาดูแล ทำให้การบริหารจัดการ นโยบายต่าง ๆ อาจไม่ต่อเนื่องกัน ส่งผลให้การทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ ให้ดึงดูดคนเข้าเวทีลุมพินี อาจยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก
ต่างจากธุรกิจเอกชน ที่จะมักแผนระยะยาว และไม่ค่อยเปลี่ยนมีการมือผู้บริหาร นโยบายต่าง ๆ และการวางแผนงาน จึงมีความต่อเนื่อง
กลายเป็นว่า ลุมพินี จะเน้นขนัด ก็ต่อเมื่อมีแจกรถ เป็นศึกใหญ่จริง ๆ ดังนั้นการเปิดทางให้มี เอกชน เข้ามาบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ และดูแลสนาม จึงเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของ กองทัพบก
เพราะหากปล่อยไว้แบบเดิม สนามมวย ย่อมมีความเสี่ยง ที่จะขาดทุนอยู่ทุกปี ยิ่งมามีเหตุการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ที่ เวทีมวยลุมพินี อีก ยิ่งเป็นเรื่องยากในการกู้คืนภาพลักษณ์ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน
แต่ถ้ามีการเปิดให้ เอกชน ได้เข้ามาบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ ควบคุมดูแลโครงสร้างต่างๆ ของเวทีมวยลุมพินี เพื่อทำให้เกิดกำไร ก็น่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีของวงการมวยไทย ที่จะได้กลุ่มคนที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ในการบริหารและทำการตลาด เข้ามาเป็นอีกพลังที่ทำให้สนามมวยเติบโตขึ้น
เพราะคงไม่มีนักธุรกิจรายไหน เข้าลงทุนเงินมหาศาล เพื่อทำให้ขาดทุน ดังนั้นพวกเขาคงเอาจริงเอาจัง ตั้งแต่การปรับภาพลักษณ์, การรับรู้แบรนด์, วิธีการทำการตลาดกับแฟนมวย, การทำงานร่วมกับโปรโมเตอร์, ค่ายมวย, นักมวย ฯลฯ การดึงสปอนเซอร์รายอื่นๆ ที่อาจไม่เคยลงสนับสนุนมวยไทย ให้เข้ามาเป็น สปอนเซอร์ เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมมวยไทยมากขึ้น
และถ้าเป็น กลุ่มทุนภาคธุรกิจรายใหญ่ของประเทศจริง อย่างที่เป็นข่าว ก็ยิ่งน่าทำให้คนวงการมวยไทย อุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง เพราะที่ผ่านมา CP ให้การสนับสนุนวงการมวยไทย และมวยสากลอาชีพไทย มาโดยตลอด
อีกทั้ง CP ยังมีผู้บริหารที่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องมวยไทยเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ในองค์กรของ CP ก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญ คนทำงานเก่งๆ มากมาย ที่น่าจะมองเห็นโอกาสในการพลิกโฉมเวทีมวยลุมพินี
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า กลุ่มทุนบิ๊กเนมรายนี้ จะเข้ามาดูแลทั้งสนามแบบครบวงจร เพื่อสะดวกต่อการบริหารจัดการอย่างเป็นอาชีพ โดยที่ กองทัพบก น่าจะถอยบทบาทลงมาเป็นเพียง ที่ปรึกษาสนาม
น่าติดตามอย่างยิ่งว่า ทิศทางของ"เวทีลุมพินี" ในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป ?
แต่จุดหนึ่งน่ายินดีก็คือ ยังมีภาคเอกชน ที่เห็นความสำคัญและมองว่า มวยไทย สามารถเติบโตและพัฒนาไปได้กว่านี้ หากมีการสร้างระบบที่เอื้อต่อภาพรวม และบริหารจัดการอย่างเป็นมืออาชีพ
ติดตามทุกข่าวสารวงการมวยได้ที่นี่ www.muayded789.com