มิติใหม่รางวัล “ยอดมวย – ดาวรุ่ง – ผู้ฝึกสอน” สนับสนุน มวยไทยเต็มรูปแบบ – ไม่ปิดกั้นคนเก่ง

มิติใหม่รางวัล "ยอดมวย – ดาวรุ่ง – ผู้ฝึกสอน"   
สนับสนุน มวยไทยเต็มรูปแบบ – ไม่ปิดกั้นคนเก่ง

คณะทำงานกลั่นกรองผลงานกีฬามวยประจำปี 2564 ของสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย กำหนดคุณสมบัติ กติกาการแข่งขันเรียบร้อยแล้ว ส่วนช่วงเวลาของผลงานมี 2 ทางเลือก โดย “รางวัลยอดมวยไทย” และ “นักมวยดาวรุ่ง” ยังคงสนับสนุนมวยไทยเต็มรูปแบบ นักมวยต้องมีผลงานดี มีความประพฤติเรียบร้อย เรื่องอายุเป็นเพียงองค์ประกอบ ขณะที่ “รางวัลผู้ฝึกสอน” ไม่ปิดกั้นต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานมวยหรือผ่านการอบรบแต่อย่างใด ขอให้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักมวยหรือค่ายตัวจริงเสียงจริงก็พอ

 เมื่อวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ห้องประชุมสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย คณะทำงานกลั่นกรองผลงานกีฬามวยปี 2564 นำโดย นายภพธร รุ่งสมัย ประธาน โดยการแต่งตั้งจาก “บิ๊กสมชาย” นายสมชาย พูลสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณารางวัล มีการประชุมครั้งแรก ซึ่งได้กำหนดคุณสมบัติ กติกาการแข่งขัน และช่วงเวลาของผลงาน รางวัลจำนวน 3 ประเภท คือ รางวัลนักมวยไทยยอดเยี่ยม, รางวัลนักมวยไทยดาวรุ่งยอดเยี่ยม, รางวัลผู้ฝึกสอนมวยไทยยอดเยี่ยม 

 ด้าน “รางวัลนักมวยไทยยอดเยี่ยม” กำหนดคุณสมบัติ กติกาการแข่งขัน ต้องเป็นการแข่งขันมวยไทยเต็มรูปแบบตามพรบ.กีฬามวย ปี 2542 เป็นนักมวยไทยที่มีสถิติการชกดี มีชื่อเสียง ชกระดับคู่เอก ความประพฤติเรียบร้อย

 ส่วน “รางวัลนักมวยไทยดาวรุ่งยอดเยี่ยม” คุณสมบัติ กติกาการแข่งขันใกล้เคียง “รางวัลนักมวยไทยยอดเยี่ยม” แต่ต้องเป็นมวยน้องใหม่ มีชื่อเสียงในวงการมวยยังไม่นานมาก ไม่จำกัดอายุ เพราะนักมวยหลายคนเริ่มชกมวยตอนอายุมากแล้วก็มีแต่ปัจจุบันผลงานเป็นที่ประจักษ์ 

 ขณะที่ “รางวัลผู้ฝึกสอนมวยไทยยอดเยี่ยม” จะไม่ปิดกั้นผู้ที่มีผลงานจริงๆ ซึ่งบางครั้งการกำหนดคุณสมบัติเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้ฝึกสอน หรือผ่านการอบรบกับสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย ทำให้ปิดกั้นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักมวยหรือค่ายมวย ดังนั้นจะพิจารณาจากผลงานมวยไทยเต็มรูปแบบเป็นหลัก และต้องมีความประพฤติเรียบร้อยด้วย อาจจะให้รางวัลเป็นตัวบุคคล หรือค่ายมวยก็ได้

 นอกจากนี้เรื่องกรอบระยะเวลาของผลงาน พิจารณานำเสนอ 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2564 (1 ปีปฏิทิน) กับ แนวทางที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึง 31 มีนาคม 2565 (1 ปี 3 เดือน) เพราะปีที่ผ่านมาเป็นช่วงโควิดระบาด การจัดการแข่งขันมีน้อย อยากให้ขยายเวลาออกไป ซึ่งจะทำให้นักมวยมีสถิติการแข่งขันมากขึ้น ทั้งนี้หากคณะกรรมการพิจารณารางวัล เห็นชอบอย่างไรก็จะถือปฏิบัติตาม

 นายภพธร กล่าวว่า” หลังจากประชุมกันวันนี้ ตนจะนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณารางวัลที่มี “บิ๊กสมชาย” ให้ทราบต่อไป ส่วนประเด็นเรื่องกรอบระยะเวลาของผลงาน หากคณะกรรมการพิจารณารางวัลเห็นชอบเช่นไร จะประสานงานให้คณะทำงานมวยทราบ และจะเชิญประชุมอีกครั้ง” 

สำหรับรางวัลทั้ง 3 ประเภทที่พิจารณา เป็นส่วนหนึ่งของรางวัล “วันนักกีฬายอดเยี่ยม” ประจำปี 2564 ของสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 22 เม.ย.65 เวลา 13.00-15.00 น. ในรูปแบบนิวนอร์มัล ที่โรงแรมอโนมาแกรนด์ กรุงเทพฯ โดยมี คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซีเมมเบอร์) รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธานจัดงาน มอบรางวัลรวม 22 ประเภท มีดังนี้
รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นชายยอดเยี่ยม,
รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นหญิงยอดเยี่ยม,
รางวัลนักกีฬาอาชีพชายยอดเยี่ยม,
รางวัลนักกีฬาอาชีพหญิงยอดเยี่ยม,
รางวัลผู้ฝึกสอนกีฬาอาชีพยอดเยี่ยม,
รางวัลชนิดกีฬาทีมอาชีพยอดเยี่ยม (Sport),
รางวัลประเภททีมกีฬาอาชีพยอดเยี่ยม (Event),
รางวัลนักมวยไทยยอดเยี่ยม,
รางวัลนักมวยไทยดาวรุ่งยอดเยี่ยม,
รางวัลผู้ฝึกสอนมวยไทยยอดเยี่ยม,
รางวัลนักกีฬาเยาวชนชายยอดเยี่ยม,
รางวัลนักกีฬาเยาวชนหญิงยอดเยี่ยม,
รางวัลผู้ฝึกสอนกีฬายอดเยี่ยม,
รางวัลผู้ฝึกสอนกีฬาคนพิการยอดเยี่ยม,
รางวัลชนิดกีฬาทีมยอดเยี่ยม (Sport),
รางวัลประเภททีมกีฬายอดเยี่ยม (Event),
รางวัลสมาคมกีฬายอดเยี่ยม,
รางวัลนักกีฬาคนพิการชายยอดเยี่ยม,
รางวัลนักกีฬาคนพิการหญิงยอดเยี่ยม,
รางวัลเอกชัย นพจินดา,
รางวัลบุคลากรผู้ทรงคุณค่าในวงการกีฬา
รางวัลธรรมาภิบาลทางการกีฬา