เหตุใด “สนามมวยลุมพินี” อาจถึงคราเปลี่ยนมือผู้บริหาร ?

เหตุใดสนามมวยลุมพินี อาจถึงคราเปลี่ยนมือผู้บริหาร ?


นับเป็นกระแสข่าวที่มาแรง และอยู่ในความสนใจของ คนวงการมวย สำหรับกรณีเกี่ยวกับการเปิดให้ กลุ่มจากภาคเอกชน ได้เข้ามาบริหารจัดการ สนามมวยลุมพินี ที่อยู่ภายใต้ปีกของ กองทัพบก มาเป็นเวลากว่า 6 ทศวรรษ

แม้จะยังไม่ได้มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ วิกลุมพินี กำลังจะผลัดใบเข้าสู่ยุคใหม่

 สนามมวยลุมพินี อยู่คู่แวดวงกำปั้นไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 64 ปี ก่อตั้งขึ้นในปี 2499 โดย พลตรีประภาส จารุเสถียร ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผบ.กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ จัดเป็นกิจการอย่างหนึ่งของ กองทัพบก อยู่ในการดูแลของ กรมสวัสดิการทหารบก

แต่เดิม เวทีลุมพินี ตั้งอยู่บริเวณถนนพระราม 4 ตรงข้ามภัตตาคารชายทะเลจันทร์เพ็ญ มีชื่อเรียกติดปากว่า “วิกสังกะสี” เนื่องจากยุคแรกเริ่ม ได้มีการใช้สังกะสีรอบล้อมเวที กระทั่งในปี 2557 สัญญาเช่าที่ดิน ระหว่างสนามมวยเวทีลุมพินี กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เจ้าของพื้นที่สิ้นสุดลง

ทาง กองทัพบก จึงได้มาสร้างสนามมวยเวทีลุมพินีแห่งใหม่ ในพื้นที่ของตัวเอง บริเวณถนนรามอินทรา ติดกับ ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ภายใต้งบประมาณ 380 ล้านบาท เป็นสนามมวยที่ทันสมัย และได้มาตรฐานระดับนานาชาติ

    สิ่งหนึ่งที่คนอาจเข้าใจคาดเคลื่อนเกี่ยวกับกรณีนี้ คือเรื่องที่ “เอกชนเข้ามาเทคโอเวอร์สนามมวย” เพราะเป็นจังหวะที่เวทีมวยลุมพินี เกิดการแพร่ระบาดใหญ่โควิด-19

ข้อเท็จจริงคือ กองทัพบก ได้มีการแนวทางที่จะปฏิรูป ธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ปีกของ “กรมสวัสดิการทหารบก” ให้เป็นไปในเชิงธุรกิจ และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น หลังเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช

โดยได้มีการเซ็น MOU (ข้อตกลงความร่วมมือ) กับ กรมธนารักษ์ ในการเข้ามาบริหารจัดการโครงสร้าง สวัสดิการเชิงพาณิชย์ของ กองทัพบก 

ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือนี้ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน กุมภาพันธ์ แล้ว (แต่มาเกิดโควิด-19 เสียก่อนในช่วงต้นเดือน มีนาคม) ย้ำอีกครั้งว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ใช่เพิ่งมาเปลี่ยนโครงสร้าง ตอนมีวิกฤติโควิด-19

 

เนื่องจากแต่เดิม รูปแบบของการบริหารจัดการ เป็นไปในลักษณะ สวัสดิการภายในหน่วย ไม่ได้จัดการในเชิงธุรกิจแบบภาคเอกชน อาจทำให้การบริหารจัดการยังไม่สามารถทำได้อย่างมืออาชีพเต็มตัว ดังจะเห็นได้จาก นายสนามมวย ล้วนเป็นข้าราชการทหารบก ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น

กองทัพบก จึงได้ลงนามกับ กรมธนารักษ์ ให้เข้ามาดำเนินกิจการสวัสดิการทหารบก ทั้งการรับผิดชอบดูแลให้กิจการไปเป็นในลักษณะธุรกิจ ประเมินราคา และมองหาผู้ร่วมลงทุน

 โดยกิจการที่มีประชาชน เป็นผู้ใช้บริการมากกว่า 50 เปอร์เซนต์ ให้ถือว่าเป็น “สวัสดิการเชิงธุรกิจ” เช่น  ปั๊มน้ำมัน, ร้านค้า, ตลาดนัด, สนามกอล์ฟ, สนามม้า, สถานพักฟื้นพักผ่อนของกองทัพฯ รวมถึง สนามมวย ที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปรับโครงสร้างการบริหารใหม่

นั่นจึงทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ เวทีลุมพินี กำลังเข้าย่างก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ จากวิกมวยที่อยู่ในการดูแลของ ทหารบก มาอย่างยาวนาน สู่การเป็นสนามมวยที่เปิดรับ ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนรวมในการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ เวทีลุมพินี เพื่อสร้างทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการเติบโตอย่างเป็นระบบ ที่โปร่งใส และตรวจสอบได้

และถ้าหากดีลนี้เกิดขึ้นจริง!  ทิศทางของสนามมวยลุมพินี จะเป็นอย่างอย่างไรต่อไป ติดตามอ่านได้ในวันพรุ่งนี้ครับ ทางมวยเด็ด 789


ติดตามทุกข่าวสารวงการมวยได้ที่นี่ www.muayded789.com