New Normal วงการมวยไทย จะเปลี่ยนไปอย่างไร ? และทำไมต้องมีองค์กรกลาง! 

New Normal วงการมวยไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร ?


    โลกหลังโควิด-19 เป็นโลกใบใหม่ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งพฤติกรรม และการใช้ชีวิตของมนุษย์ ที่จะเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเดิม 

    หลายคนบนโลกกำลังพูดถึง New Normal หรือความปกติแบบใหม่ของการใช้ชีวิต หลังเหตุการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป 

    อย่าลืมว่านี่ก็ผ่านมาเกือบ 2 เดือนแล้วที่มวยไทยไม่ได้จัด หลายคนต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักอาศัยแบบใหม่ จนเริ่มคุ้นชินกับสภาพแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดรอบตัว

    แม้ยังไม่มีการกำหนดชัดเจนว่า มวยไทย จะกลับมาคืนสังเวียนได้เมื่อไหร่ ? แต่ที่แน่ๆ เมื่อมวยไทยกลับมาจัดอีกครั้ง สถานที่รวมรวบคนจำนวนมาก อย่างเช่น สนามกีฬา, คอนเสิร์ต กำลังจะกลายเป็นที่ๆ ผู้คนรู้สึกถึงความเสี่ยงในการไปใช้ชีวิตร่วมกัน 

    หากเรามองดูโครงสร้างมวยไทยอาชีพ จะเห็นว่า การจัดมวยไทยให้ขาดทุนหรือกำไรนั้น ? ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักอย่าง ยอดจำหน่ายตั๋วเข้าชม ที่เป็นรายได้ทางเดียวของ โปรโมเตอร์ (ไม่นับมวยทีวี) พอได้เงินค่าตั๋วมาแล้ว โปรฯ ก็ยังต้องเอาเงินส่วนนี้ ไปจ่ายค่าเช่าสนาม, ค่าตัวนักมวย ซึ่งก่อนจะมีโควิด-19 ทุกคนก็ทราบดีว่า โปรโมเตอร์ ยังต้องรับศึกหนัก ในการจัดมวยขาดทุนไฟต์หนึ่งหลักแสนกันอยู่ตลอด  น้อยครั้งที่มีจัดมวยแล้วมีกำไร 

    และโลกหลังโควิด-19 ที่มีแนวโน้มว่า คนดูในสนามมีแนวโน้มจะลดลง คนหันไปดูมวยตู้เยอะขึ้น เพราะปลอดภัยกว่า สะดวกกว่า 

    หากเป็นเช่นนี้ นั่นหมายความว่า โปรโมเตอร์ที่จัดมวยวันธรรมดา ที่ไม่มีถ่ายทอดสด มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนเพิ่มขึ้นอีกมโหราฬ จนอาจถึงคราวที่พวกเขาต้องโบกมือลา เพราะไม่สามารถแบกต้นทุนนี้ต่อไป

    ถ้ารายการมวยน้อยลง ค่ายมวย, นักมวย จำนวนมากก็ยิ่งเดือดร้อนเข้าไปอีก เพราะไม่มีรายการขึ้นชก การที่ยังสามารถดำเนินการจัดต่อได้อย่าง มวยตู้, มวยทีวี ศึกพวกนี้ก็มีนักมวยต่อคิวอีกเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลให้ค่ายเล็กๆ ต่างจังหวัดต้องปิดตัวไปอีกหลายเจ้าเลยก็ได้ 

    อย่างที่เราเห็นในตอนนี้ ค่ายมวย กับ นักมวย พยายามดิ้นรนแสวงหารายได้จากช่องทางอื่นด้วย เช่น การทำธุรกิจเสริมควบคู่กันไป หรือค้าขายต่างๆ เพื่อให้ค่ายมวย และนักมวย มีรายได้เพิ่มเติม นอกเหนือจาก การชกมวยเพียงอย่างเดียว 

    นอกจากนี้  New Normal วงการมวยไทย ยังหมายถึงการที่ สนามมวย ต่อจากนี้ อาจต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างผู้ชม, เซียนมวยอีกด้วย ทำให้ความจุของสนาม ย่อมต้องลดลง จนกว่าจะมีวัคซีนที่ทำให้โรคนี้หายขาด ซึ่งไม่มีใครรู้เลยว่าจะอีกนานแค่ไหน 

    ส่วนหนึ่งที่ มวยไทยอาชีพ เป็นเช่นนี้ ต้องยอมรับว่า เพราะอดีตจนปัจจุบัน มวยไทย กลายเป็นการแข่งขันกีฬา ที่มีความเป็นเอกเทศ โดดเดี่ยว ห่างไกลจากรัฐ หรือองค์กรกลาง ที่จะเข้ามามีอำนาจ และบทบาทในการควบคุมดูแล

    แม้ว่าทางภาครัฐจะมีงบประมาณที่พร้อมเข้ามาช่วยเหลือ แต่เงินเหล่านี้ กลับไม่เคยตกไปถึงคนมวยรากหญ้าจริงๆ เสียที

    เพราะเราไม่มีองค์กรใดเป็นปากเสียงให้พวกเขา ส่วนภาคเอกชน เม็ดเงินที่เข้ามาอยู่ในระบบมวยไทย มีน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับ วอลเลย์บอล, ฟุตบอล ที่เอกชนให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะกีฬาทั้งสองชนิด มีรูปแบบโครงสร้างที่ชัดเจน

    ขณะที่ วงการมวยไทย อำนาจต่างๆ ถูกกระจายออกไปอยู่ที่ สนามมวย, กลุ่มก๊วนต่างๆ ลักษณะจึงไปในแบบที่ ต่างคนต่างจัดมากเกินไป รับผิดชอบแค่ตัวเอง ใครอยากก็จัด ไม่มีหน่วยงานกลาง องค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลควบคุม และบริหารจัดการสิทธิประโยชน์อย่างที่ คนในวงการมวยไทย ควรจะได้ ?

    ยกตัวอย่าง ฟุตบอลไทย มี สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่ติดต่อประสานงานกับ ภาครัฐ และนานาชาติ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ โดยมี “ฟุตบอลทีมชาติ” และ “ฟุตบอลลีก” เป็นสินค้าหลัก

    สมาคมฯ ตั้ง บริษัท ไทยลีก จำกัด เข้ามาดูแลจัดการแข่งขัน ไทยลีก โดยเปิดประมูลให้ เอกชน มาบริหารสิทธิประโยชน์ (แพลนบี)  ทำให้ ฟุตบอลไทย สามารถดึงเอาเม็ดเงินจากเหล่าสปอนเซอร์ภาคเอกชนหลายๆเจ้ามาได้ หลักหลายพันล้านบาท รวมถึงค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลที่สูงนับพันล้านบาท 

    
    เมื่อ สมาคมฯ ได้เงินมาจำนวนมาก พวกเขาก็นำเงินไปแบ่งสรรให้กับ ทีมฟุตบอลต่างๆ ตามระดับของลีก เพื่อให้สโมสรเหล่านี้อยู่ได้ มีเงินสำหรับการพัฒนาทีมเพิ่มขึ้น นอกจากเหนือจากค่าขายตั๋ว, ค่าสปอนเซอร์, ค่าขายเสื้อแข่ง ที่สโมสรหาเงินได้เองจากส่วนนี้อยู่แล้ว รวมถึง สมาคมฯ ยังได้เอาเงินไปพัฒนาทีมชาติ, ฝึกอบรมโค้ช, พัฒนาสนามแข่งขันต่างๆ 

    พอมองย้อนกลับมาที่วงการมวยไทย เราไม่มีสมาคมฯ หรือ บริษัทที่ทำหน้าที่ในลักษณะนี้ “มวยไทยอาชีพ” เปรียบเสมือนการแข่งขันอิสระ ที่ไม่มีหน่วยงานกลาง ที่คอยทำหน้าที่ดูแลสิทธิประโยชน์ กำหนด ควบคุมการแข่งขัน และเชื่อมต่อระหว่าง วงการมวยไทย กับ ภาครัฐ และเอกชน เพื่อเข้ามาช่วยกันดูแลจัดการ 

    มีเพียงแค่ สำนักงานกีฬามวย ของ กกท. ที่คอยช่วยเหลือได้แค่ห่างๆ แต่ไม่ได้มีอำนาจเต็มในการเข้ามาควบคุม เพราะไม่สามารถสั่งให้หยุดการแข่งขันได้

    ตัวอย่างง่ายๆ จากตอนที่เกิดเหตุการณ์โควิด-19 และคนวงการมวยได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ทว่ากลับไม่มีใครหน่วยงานไหนสามารถรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และไม่มีองค์กรไหนเลยที่สามารถเป็นปากเสียง และเชื่อมต่อกับภาครัฐและเอกชนได้อย่างเข้าถึง คนวงการมวยที่เดือดร้อน ทำได้แค่เพียงรอ รอ รอ แล้วก็รอ 

    แม้เราจะเห็น หนุ่มโบ๊ท ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ พยายามเคลื่อนไหว และเรียกร้องสิ่งต่างๆ ให้วงการมวย แต่ต้องยอมรับว่าคนเพียงคนเดียว อาจไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก เท่ากับการที่คนทั้งวงการ มาพูดคุย จับมือกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ต้องใช้พลังมหาศาลจากคนทุกคน 

    จะดีแค่ไหน หากคนวงการมวย ยอมเปิดอกเปิดใจ คุยกัน ยอมรับแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด ยอมเสียสละอำนาจ ผลประโยชน์บางอย่างของตน เพื่อให้เกิด “องค์กรกลาง” หรือ “หน่วยงาน” กลางของ มวยไทย 

    ที่ทุกคนต้องเคารพในการอยู่ร่วมกัน และให้ องค์กรนี้ ที่มีหน้าที่ในการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ ควบคุมการแข่งขัน มาตรฐานการตัดสิน และทุกอย่างให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นหนึ่งเดียวกัน 

    เหมือนอย่างที่ ฟุตบอลทุกประเทศในโลก ต้องมี สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เพื่อเชื่อมต่อกิจการฟุตบอลของประเทศตนเอง กับ องค์กรใหญ่อย่าง ฟีฟ่า 

    มันความสำคัญมาก ในการที่ คนมวยจะต้องรวมมาพลังกัน เพื่อผลักดันให้เกิด สมาคม, หน่วยงาน, องค์กรกลาง เกิดขึ้น 

    ภายใต้วัตถุประสงค์ที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อแสวงหาประโยชน์เข้ากระเป๋าใคร  แต่เพื่อให้ วงการมวยไทย มีความแข็งแรง มีมาตรฐาน และเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมรับมือกับ New Normal และความเปลี่ยนแปลงของโลกหลังโควิด-19 ที่ทุกอย่างจะไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป

 


ติดตามทุกข่าวสารวงการมวยได้ที่นี่ www.muayded789.com